วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

ธรรมะประจำวันนี้

"ทำดี"แล้ว"ดีจริง" ต้องทำแบบไหน??สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช 


ทำความดีด้วยใจว่างจากกิเลส 

ทำความดีอย่างสบาย ๆ อย่างมีอุเบกขา 
คือ ทำใจเป็นกลางวางเฉย ไม่หวังผลอะไรทั้งสิ้น 

การตั้งความหวังในผลของการทำดีเป็นธรรมดาของสามัญชนทั่วไป ซึ่งก็ไม่ผิด 
แต่ก็จะถูกต้องกว่าหากจะไม่ตั้งความหวังเลย 
เมื่อรู้ว่าเป็นความดีก็ทำเต็มความสามารถของสติปัญญา 
ไม่เดือดร้อนให้เกินความสามารถ ไม่มุ่งหวังให้ฟุ้งซ่าน 
ไม่ผิดหวังให้เศร้าเสียใจ การทำใจเช่นนี้ไม่ง่าย แต่ก็เป็นสิ่งทำได้ 
ถ้าทำไม่ได้พระพุทธเจ้าก็จะไม่ทรงสั่งสอนไว้ 


ทำดีด้วยความโลภและหลง
จักไม่อาจให้ผลสูงสุด
 

การทำดีหรือทำบุญกุศลที่จะส่งผลสูงสุด 
ต้องเป็นการทำด้วยใจว่างจากกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง 
ความผูกพันในผลที่จะได้รับเป็นทั้งความโลภและความหลง 
ความผูกพันในผลที่จะได้รับเป็นทั้งความโลภและความหลง 
จึงไม่อาจให้ผลสูงสุดได้ แม้จะให้ผลตามความจริงที่ว่า ทำดีจักได้ดี 
แต่เมื่อเป็นความดีที่ระคนด้วยโลภและหลง ก็ย่อมจะได้ผลไม่เท่าที่ควร 
มีความโลภหลงมาบั่นทอนผลนั้นเสีย 


ทำดีแล้วต้องได้ดีแน่นอนเสมอไป 

ทำดีไม่ได้ดี ไม่มีอยู่ในความจริง 
มีอยู่แต่ในความเข้าใจผิดของคนทั้งหลายเท่านั้น 
ทำดีแล้วต้องได้ดีแน่นอนเสมอไป 


ที่มีเหตุการณ์ต่าง ๆ นานาปรากฏขึ้น เหมือนทำดีไม่ได้ดีนั้น 
เป็นเพียงการปรากฏของความสลับซับซ้อนแห่งการให้ผลของกรรมเท่านั้น 
เพราะกรรมนั้นไม่ได้ให้ผลทันตาทันใจเสมอไป 
แต่ถ้าเป็นเรื่องภายในใจแล้ว กรรมให้ผลทันทีที่ทำแน่นอน 
เพียงแต่ว่า บางทีผู้ทำไม่สังเกตด้วยความประณีตเพียงพอจึงไม่รู้ไม่เห็น 
ขอให้สังเกตใจตนให้ดี แล้วจะเห็นว่าทันทีที่ทำกรรมดี 
ผลจะปรากฏขึ้นในใจเป็นผลดีทันทีทีเดียว 


ทำกรรมดีแล้วจิตใจจักไม่ร้อนเร่า 

ทำกรรมดีแล้วใจจักไม่ร้อน เพราะไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะได้รับผลไม่ดีต่าง ๆ 

ความไม่ต้องหวาดวิตกหรือกังวลไปต่าง ๆ นั้น 
นั่นแหละเป็นความเย็น เป็นความสงบของใจ 
เรียกได้ว่าเป็นผลดีที่เกิดจากกรรมดี ซึ่งจะเกิดขึ้นทันตาทันใจทุกครั้งไป 
เป็นการทำดีที่ได้ดีอย่างบริสุทธิ์แท้จริง 


ส่วนผลปรากฏภายนอกเป็นลาภยศสรรเสริญต่าง ๆ นั้น 
มีช้า มีเร็ว มีทันตาทันใจ และไม่ทันตาทันใจ 
จนเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดกันมากมาย 
ว่าทำดีไม่ได้ดีบ้าง ทำชั่วได้ดีบ้าง 


ควรทำดีโดยทำใจให้เป็นกลาง ไม่มุ่งหวังสิ่งใด 

ทำดีได้ดี แน่นอนอยู่แล้ว บรรดาผู้ทำความดีทั้งหลายซาบซึ้งในสัจจะ 
คือ ความจริงนี้ ดังนี้ก็ไม่น่าจะลำบากนักที่จะเชื่อด้วยว่า 
ควรทำดีดโดยทำใจเป็นกลางวางเฉลยไม่มุ่งหวังอะไร ๆ ทั้งนั้น 


การที่ยกมือไหว้พระด้วยใจที่เคารพศรัทธาในพระรัตนตรัยสูงสุดเพียงเท่านี้ 
ได้ผลดีแก่จิตใจยิ่งกว่าจะยกมือไหว้พร้อมกับอธิษฐาน 
ปรารถนาสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไปด้วยมากมายหลายสิ่งหลายอย่าง 
หรือการจะบริจาคเงินสร้างวัดวาอาราม 
ด้วยใจที่มุ่งให้เป็นการบูชาคุณพระรัตนตรัยเพียงเท่านี้ ก็ได้ผลดีแก่จิตใจ 
ยิ่งกว่าจะปรารถนาวิมานชั้นฟ้า หรือบ้างช่องโอ่อ่าทันตาเห็นในชาตินี้ 
หรือการจะสละเวลากำลังกาย กำลังทรัพย์เพื่อช่วยเหลืองานพระศาสนา 
โดยมุ่งเพื่อผลสำเร็จของงานนั้นจริง ๆ 
เพียงเท่านี้ก็ได้ผลดีแก่จิตใจยิ่งกว่าปรารถนาจะได้หน้าได้ตาว่าเป็นคนสำคัญ 
เป็นกำลังใจให้เกิดความสำเร็จ หรือการคิดพูดทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด 
เพื่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 
ด้วยใจที่มุ่งเทิดทูนรักษาอย่างเดียวเช่นนี้ 
ให้ผลดีแก่จิตใจยิ่งกว่าหวังได้ลาภยศหน้าตาตอบแทน 


ทำความดีอย่างบริสุทธิ์ สะอาดจริงเถิด 

ทุกวัน เรามีโอกาสทำดีด้วยกันทุกคน ดังนั้นจึงขอให้พยายามตั้งสติให้ดี 
ใช้ปัญญาให้ควร อย่าโลภ อย่าหลง อย่าทำความดีอย่างมีโลภมีหลง 
ให้ทำความดีอย่างบริสุทธิ์สะอาดจริงเถิด 


มีวิธีตรวจใจตนเองว่า ทำความดีด้วยใจปราศจากเครื่องเศร้าหมอง 
คือ กิเลส โลก โกรธ หลง หรือไม่ ก็คือให้ดูว่าเมื่อทำความดีนั้น 
ร้อนใจที่จะแย่งใครเขาทำหรือเปล่า กีดกัดใครเขาหรือไม่ 
ฟุ้งซ่านวุ่นวายกะเก็งผลเลิศในการทำหรือเปล่า 
ต้องการจะทำทั้ง ๆ ที่ไม่สามารถจะทำได้ แล้วก็น้อยเนื้อต่ำใจ 
หรือโกรธแค้นอาฆาตพยาบาทอุปสรรคหรือเปล่า 


ถ้าเป็นคำตอบปฏิเสธทั้งหมดก็นับว่าดี 
เป็นการทำดีอย่างมีกิเลสห่างไกลจิตใจพอสมควรแล้ว สบายใจ 
เย็นใจในการทำความดีใด ๆ 
ก็นับว่ามีกิเลสห่างไกลใจในขณะนั้นอย่างน่ายินดียิ่ง 
จะเป็นเหตุให้ผลอันเกิดจากรรมดีนั้นบริสุทธิ์ สะอาด และสูงส่งจริง 


ทำให้ไม่มีตัวเราของเราได้...วิเศษสุด
 

ไม่มีตัวเราของเราแล้วไม่มีความทุกข์ 
เพราะไม่ถูกกระทบ ไม่มีอะไรให้ถูกกระทบ 

เหมือนคนไม่มีมือ ก็ไม่เจ็บมือ, คนไม่มีขา ก็ไม่เจ็บขา 
ดังนั้น การทำให้ไม่มีตัวเราของเราได้จึงวิเศษสุด 
แต่ก็ยากยิ่งนักสำหรับบุถุชนคนสามัญทั้งหลาย 
ฉะนั้นขอให้มีเพียงเราเล็ก ๆ มีเราน้อย ๆ ก็ยังดี 
ดีกว่าจะมีเราใหญ่โตมโหฬาร มีของเราเต็มบ้านเต็มเมือง 


เมื่อบุถุชนไม่สามารถทำตัวเราให้หายไปได้
ยังหวงแหนห่วงใยตัวเราอยู่ ของเราจึงยังต้องมีอยู่ด้วย
ของเราจะหมดไปก็ต่อเมื่อตัวเราหมดไปเสียก่อน นี้เป็นธรรมดา
 


ถ้ายังมีตัวเราของเราอยู่ ยังต้องกระทบกระทั่งอยู่ 
ยังหวงแหนรักษาตัวเราของเราไว้ 
ก็ควรอย่างยิ่งที่จะหวงแหนรักษาให้ถูกต้อง 
จะได้ไม่ต้องรับโทษทุกข์ของการมีตัวเราของเรามากเกินไปอย่างเดียว 
แต่มีโอกาสที่จะได้รับคุณรับประโยชน์บ้างจากการมีตัวเราของเรา 
นั่นก็คือต้องระวังรักษาปฏิบัติต่อตัวเราของเราให้ดี ให้เป็นตัวเราของเราที่ดี 


ที่มา...( ตอนหนึ่งพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร....)
 

ธรรมะกับความรัก




ธรรมะกับความรัก

หลังจากการเริ่มปฏิบัติธรรมมาพอสมควร ข้าพเจ้ายังไม่ไปถึงไหนเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะยังยึดติดอยู่ในสิ่งที่เป็นความอยาก(กิเลส ตัณหา)อยู่มากพอสมควร คนเราเมื่อเกิดความเศร้าหมอง ก็จะคิดหาทางให้พ้นทุกข์ บางคนก็อาศัย สุรา ยาเสพติด แต่ข้าพเจ้า ใช้ธรรม ซึ่งข้าพเจ้ามักจะเรียกว่า ธรรมโอสถ เป็นยาขนานที่ดีที่สุด ในขณะนี้ ในชีวิตของข้าพเจ้าเอง นับที่ผ่านมาความสุขที่เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า แทบจะนับครั้งได้ แต่ความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น จำแทบไม่ไหว เพราะมันมีจำนวนมาก วันนี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงความรัก ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ โดยใช้หลักธรรม ในการอธิบาย
         ในฐานะที่ข้าพเจ้าคิดผิดกับความรักมาพอสมควร จนแทบจะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตไป ข้าพเจ้าประพฤติผิดกับครอบครัว ละทิ้งหน้าที่อันใหญ่หลวง จากสิ่งลวงตาที่ได้พานพบ จากสังคมที่มีแต่การแข่งขัน โชว์เปลือกของสังคมที่เป็นอยู่ จนลืมความรัก ความซื่อสัตย์ ที่ครอบครัวมีให้ข้าพเจ้าเสมอมา ตลอด ยี่สิบปีที่ผ่านมา นับเป็นกุศลอันใหญ่หลวงที่ได้มีดวงตาเห็นธรรม ทำให้ได้เห็น ธรรมกับความรัก ในการครองเรือนสิ่งที่เกิดขึ้น จะไมขอกล่าวถึง ณ ที่นี้ แต่จะกล่าวถึงความสวยงามของความรัก ที่มีธรรม เป็นสิ่งประสาน ได้ลงตัวที่สุด  จากนี้ไป จะขอถ่ายทอด ธรรมกับความรัก ที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาจาก หนังสือ ของพระเดชพระคุณ พระธรรมโกศาจารย์ (2549) มาเป็นแนวทางในการเจริญสติปัญญาเกี่ยวกับการครองรัก ครองเรือนต่อไปดังนี้
ในส่วนของธรรม
        ความงดงามของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงที่มีความหลากหลายของธรรม เหมือนกับ สวนไม้ดอกนานาพรรณ มีดอกไม้หลากสีสันให้คนเลือกเก็บได้ตามต้องการ ธรรมมีจำนวนมากมาย หลายประเภทพร้อมที่จะให้แต่ละคนเลือกนำไปปฏิบัติได้ตามความต้องการ ใครอยากไปนิพพานก็มีโลกุตรธรรมสำหรับคนที่ต้องการพ้นโลก ส่วนใครที่อยากประสบความสำเร็จในโลกนี้ ก็มีโลกิยธรรมให้นำไปปฏิบัติเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในปัจจุบัน สำหรับสามีภรรยาที่ต้องการความสำเร็จในชีวิตการแต่งงาน ก็มีธรรมสำหรับคนครองเรือนให้เลือกปฏิบัติ
เป้าหมายแห่งการแต่งงานอยู่ที่การสร้างครอบครัวที่มีแต่ความรักใคร่กลมเกลียวโดยไม่มีการหย่าร้าง สามีภรรยาจะบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิบัติธรรมร่วมกัน การปฏิบัติธรรมจะช่วยให้ชีวิตคู่เข้มแข็งมั่นคงพอที่จะฝ่ามรสุมต่างๆไปได้ ดังนั้น คู่สามีภรรยาที่ต้องการมีชีวิตการแต่งงานที่ยั่งยืนตลอดไปต้องร่วมกันปฏิบัติธรรมคำว่าธรรมในที่นี้หมายถึงคุณธรรมและจริยธรรม
          คุณธรรม ได้แก่ คุณสมบัติที่ดีภายในจิตใจ เช่น ความรัก ความสงสาร ซึ่งช่วยให้คนเราทำหน้าที่ของสามีภรรยาได้โดยไม่ต้องฝืนใจคุณธรรมซึ่งเป็นเรื่องภายในจิตใจซึ่งยากที่คนทั่วไปจะตรวจสอบได้ว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น ความรักเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง คนอื่นไม่สามารถจะมองเห็นความรักภายในจิตใจของเราว่ามีมากน้อยเพียงใด เท่าที่คนทั่วไปจะทำได้ก็คือคาดคะเนจากพฤติกรรมภายนอกของเราว่าเรามีความรักในใจมากน้อยแค่ไหน
          จริยธรรม ได้แก่ หลักแห่งความประพฤติที่ดีงามที่จะต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของตนเอง ครอบครัว และสังคม จริยธรรมเป็นข้อปฏิบัติซึ่งกำหนดไว้โดยศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีและกฎหมายว่าอะไรเป็นหน้าที่ที่สามีภรรยาจะต้องทำเพื่อความผาสุกแห่งครอบครัว จริยธรรมเป็นเรื่องการควบคุมพฤติกรรมที่แสดงออกทางกายและทางวาจา ซึ่งคนอื่นสามารถรับรู้และประเมินได้ว่าเรามีจริยธรรมมากน้อยเพียงใด เช่น การที่สามีภรรยาต้องให้เกียรติกันและกันเป็นจริยธรรมอย่างหนึ่ง คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ว่าสามีภรรยาคู่นี้ให้เกียรติกันและกันหรือไม่ ตรงกันข้ามกับ คุณธรรมเป็นรากฐานของจริยธรรม เมื่อสามีมีคุณธรรมคือความรักภรรยาอยู่ในหัวใจ เขาก็จะปฏิบัติหน้าที่ของสามีต่อภรรยาโดยไม่ต้องฝืนใจ ความรักทำให้สามียอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อครอบครัวของเขา ดังนั้น ความรักจึงเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตการแต่งงาน คู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันด้วยความรักจะสามารถปรับตัวเข้าหากันได้ดีกว่าคู่ที่แต่งงานกันโดยไม่มีความรัก เพราะความรักจะทำให้คู่รักยอมลงให้กันและทนกันได้คำว่า ความรัก ในพระพุทธศาสนามี ๒ ประเภท ดังนี้
          ๑. เปมะ ได้แก่ ความรักใคร่หรือความรักแบบโรแมนติกซึ่งเกิดจากสาเหตุ ๒ ประการ คือ
               (๑) บุพสันนิวาส หญิงชายเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน เมื่อเกิดใหม่มาพบกันในชาตินี้จึงเป็นเนื้อคู่กันและรักกัน     โดยใช้เวลาในการคบหาสมาคมกันไม่มากนัก
               (๒) การดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชาติปัจจุบันก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของความรัก แม้หญิงชายจะไม่เคยอยู่ร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน ทั้งคู่ก็รักกันได้เพราะความมีน้ำใจของอีกฝ่ายหนึ่งที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คอยดูแลเมื่อทุกข์และยินดีเมื่อสุข
          ๒. เมตตา ได้แก่ ความปรารถนาดีหรือความหวังดีที่จะให้คนอื่นมีความสุข ซึ่งเกิดจากการมองเห็นความดีงามหรือความน่ารักของคนอื่นแล้วเกิดความประทับใจจนถึงกับคิดส่งเสริมให้เขามีความดีงามหรือความน่ารักยิ่งๆขึ้นไป ชีวิตการแต่งงานจะยั่งยืนนานถ้ามีความรักทั้งสองอย่างคือมีทั้งความรักแบบโรแมนติกและความรักแบบเมตตาเป็นพื้นฐาน ความรักแบบโรแมนติกสร้างความสุขความเพลินใจเมื่ออยู่ใกล้คนรัก แต่ไฟแห่งความรักใคร่มักโชติช่วงอยู่ได้ไม่นาน ความเคยชินเพราะอยู่ด้วยกันมานานมักทำให้ความรักใคร่จืดจางไปได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องมีความรักแบบเมตตาตามประกบความรักใคร่เพื่อให้ความรักยั่งยืนยาวนาน ความรักแบบโรแมนติกถูกความน่ารักน่าปรารถนาของคู่ครองเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดอารมณ์รัก ความรักใคร่นี้มีธรรมชาติไม่แน่นอน เวลาใดคนรักทำตัวมีเสน่ห์น่ารัก เวลานั้นอารมณ์รักใคร่ก็จะเบ่งบานมีพลัง เวลาใดคนรักเอาแต่ใจทำตัวไม่น่ารัก เวลานั้นความรักใคร่ก็จะอับเฉาร่วงโรย ความรักใคร่แบบโรแมนติกจึงมีสภาวะขึ้นลงตามปัจจัยเงื่อนไขภายนอกอันได้แก่กิริยาอาการของคนรักเป็นสำคัญครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังสำราญพระราชหฤทัยอยู่กับพระมเหเสีชื่อว่าพระนางมัลลิกาเทวี พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามพระมเหสีว่า "เธอรักใครมากที่สุด" การที่พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามอย่างนี้แสดงว่าทรงอยู่ในอารมณ์โรแมนติกและหวังว่าจะได้รับคำตอบแบบโรแมนติก แต่พระนางมัลลิกาเทวีกลับทูลตอบว่า "หม่อมฉันรักตัวเองมากที่สุด"
พระเจ้าปเสนทิโกศลถึงกับหมดอารณ์โรแมนติก ทรงนำเรื่องนี้ไปเล่าถวายพระพุทธเจ้าและตรัสถามว่าทำไมพระมเหสีจึงกล่าวอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงตอบว่าเพราะพระนางมัลลิกาเทวีเป็นคนตรงจึงกล้าพูดความจริงที่ว่าคนทุกคนรักตัวเองมากที่สุด พระพุทธเจ้าได้เคยตรัสไว้ในที่อื่นว่า นัตถิ อัตตะสะมัง เปมัง ไม่มีรักใดไหนเล่าจะเท่ารักตนเองความรักใคร่แบบโรแมนติกเกิดโดยสิ่งเร้าภายนอกจากคนรักเป็นสำคัญจึงมีสภาวะไม่คงที่ถาวร สามีภรรยาที่ประสงค์จะทำให้ความรักใคร่เข้มแข็งมั่นคงต้องผสมความรักแบบโรแมนติก ด้วยความรักแบบเมตตาความรักแบบโรแมนติกเปรียบเหมือนรถยนต์ที่อาศัยคนอื่นคอยเติมเชื้อเพลิงให้อยู่เสมอจึงจะแล่นไปได้ แต่ความรักแบบเมตตาเปรียบเหมือนรถยนต์ที่เจ้าของผลิตเชื้อเพลิงได้เองอย่างไม่มีขีดจำกัดจึงแล่นไปได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะความรักแบบเมตตาเป็นสิ่งที่ใจเราสร้างขึ้นมาเองด้วยการฝึกมองให้เห็นความดีงามของคนอื่น คนเราจะมีเมตตาในใจได้ต้องฝึกมองโลกในแง่ดี ถ้าสามีภรรยาสามารถฝึกใจให้มองแต่แง่ดีของคู่ครอง ต่างฝ่ายต่างจะรักกันและกันได้ตลอดเวลาแม้แต่ในยามที่อยู่ด้วยกันมานานจนข้อบกพร่องของอีกฝ่ายหนึ่งเริ่มปรากฏออกมา สามีภรรยาต้องสามารถทำใจให้มองข้ามข้อบกพร่องเหล่านั้นและเพ่งความสนใจไปอยู่ที่ความดีงามของคู่ครองดังคำประพันธ์ที่ว่ามองโลกแง่ดีมีผลเห็นคนอื่นดีมีค่า ปลุกใจให้เกิดศรัทธาตั้งหน้าทำดีมีคุณ 
การฝีกใจให้มองแต่แง่ดีอย่างนี้เรียกว่าการแผ่เมตตา ใจของคนแผ่เมตตาจะเต็มไปด้วยความรักแบบไม่มีเงื่อนไข เช่นเดียวกับความรักของแม่ที่มีต่อลูกน้อยคนเดียว นั่นคือ แม่พร้อมที่จะรักลูกน้อยของตนโดยมองข้ามความบกร่องของลูกได้ฉันใดคนแผ่เมตตาก็สามารถที่จะรักและให้อภัยคนอื่นได้ฉันนั้นสามีภรรยาต้องฝึกแผ่เมตตาให้กันและกัน ความรักแบบเมตตาไม่ได้เกิดจากการกระตุ้นของคู่ครอง แต่เกิดจากการที่แต่ละฝ่ายเป็นผู้กำหนดความสนใจให้พุ่งเป้าไปที่ความดีงามหรือความน่ารักของอีกฝ่ายหนึ่ง ความรักแบบเมตตาจึงดำเนินไปอย่างไม่รู้จบ เรียกว่าอัปปมัญญา คือไม่มีขีดจำกัด ตราบใดที่สามีภรรยายังนึกถึงความดีงามของอีกฝ่ายหนึ่ง ตราบนั้น ความรักแบบเมตตาก็ยังคงอยู่ตลอดไปความรักแบบโรแมนติกมีวันจืดจางไปเมื่อความสวยงามร่วงโรยไปตามกาลเวลา แต่ความรักแบบเมตตายังคงที่คงทนเพราะไม่ได้ใส่ใจความสวยงามภายนอกที่ร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเพ่งความสนใจไปที่ความดีงามภายในจิตใจอีกด้วย นั่นคือความรักแบบเมตตาใส่ใจคนรักในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์และเป็นเพื่อนชีวิตของเราในการแต่งงานตามประเพณีไทยต้องมีพิธีหลั่งน้ำสังข์ ซึ่งเป็นการสอนธรรมให้คู่บ่าวสาวมีความรักความเมตตาต่อกันและอยู่ครองคู่กันโดยไม่แตกแยกเหมือนกับสายน้ำสังข์ที่หลั่งรดมือนั้น คนโบราณได้ว่าคาถาหลั่งน้ำสังข์ให้พรคู่ บ่าวสาวว่า "อิทัง อุทะกัง วิยะ สะมัคคา อภินนา โหถะ ขอเธอทั้งสองจงปรองดองไม่แตกแยกกันเหมือนน้ำนี้เถิด" ดังคำประพันธ์ที่ว่า ขอเธอทั้งสอง อยู่ครองสมาน ดุจดังสายธารสะอาดสดใสสายน้ำมิแยกแตกกันฉันใดขอสองดวงใจดุจสายธารเทอญ อย่างไรก็ตาม ความรักแบบเมตตาเป็นเพียงคุณธรรมหนึ่งในสี่ข้อที่เป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิตการแต่งงาน คุณธรรมทั้งสี่ข้อรวมเรียกว่า พรหมวิหารธรรม แปลว่าธรรมเครื่องอยู่ของพรหมคือผู้ประเสริฐ ซึ่งประกอบด้วยเมตตา(ความรัก) กรุณา(ความสงสาร)มุทิตา(ความพลอยยินดี)และอุเบกขา(ความวางเฉย)คำว่า พรหมวิหารธรรม ที่แปลว่าธรรมเครื่องอยู่ของพรหมนี้ชวนให้นึกถึงภาพของพระพรหม ๔ หน้า พระพรหมใช้หน้าแต่ละหน้าไว้ดูแต่ละทิศทาง ฉันใด สามีภรรยาก็ใช้พรหมวิหารธรรมแต่ละข้อเพ่งพินิจลักษณะแต่ละด้านของคู่ครอง ฉันนั้น
คุณธรรมทั้งสี่ข้อมีหลักปฏิบัติเหมือนกันตรงที่ว่าตัวเราเองเป็นผู้สร้างคุณธรรมเหล่านั้นให้เกิดขึ้นในใจด้วยการกำหนดทิศทางแห่งความสนใจให้เพ่งพินิจไปยังลักษณะแต่ละด้านของคนอื่นซึ่งจะช่วยให้เกิดความรัก ความสงสาร ความพลอยยินดีและความวางเฉยขึ้นในใจของเรา เช่น เมื่อเราเพ่งความสนใจไปที่ความดีงามของคนอื่น เราจะมีความรักแบบเมตตาต่อเขา แต่เมื่อเราเพ่งความสนใจไปที่ความทุกข์ระทมของเขา เราจะรู้สึกสงสารคือมีความกรุณาต่อเขา พรหมวิหารธรรมข้อที่ ๒ คือกรุณา หมายถึงความสงสารหวั่นใจปรารถนาจะช่วยให้คนอื่นพ้นทุกข์ เมื่อคู่ครองของเราประสบความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วย ในขณะนั้น เราหยุดเพ่งพินิจความดีงามของเขาเป็นการชั่วคราว แต่หันไปให้ความสนใจต่อความเจ็บป่วยของเขาเพื่อดูแลกันในยามเจ็บไข้ คู่ครองต้องไม่ทอดทิ้งกันในยามจนและยามเจ็บ ที่สำคัญก็คือคู่ครองต้องยืนหยัดเคียงข้างช่วยประคับประคองให้อีกฝ่ายหนึ่งผ่านพ้นปัญหาและอุปสรรคไปได้ ดังคำกล่าวที่ว่า "มีทุกข์ร่วมทุกข์ มีสุขร่วมเสพ" มีทุกข์ร่วมทุกข์ด้วยกรุณา มีสุขร่วมเสพด้วยเมตตาพรหมวิหารธรรมข้อที่ ๓ คือ มุทิตา หมายถึงความพลอยยินดีเมื่อคนอื่นได้ดีมีสุข เวลาที่คู่ครองของเราประสบความสำเร็จในชีวิต เราต้องแสดงความยินดีอย่างจริงใจด้วยมุทิตา คู่สามีภรรยาจะไม่อิจฉาริษยากันเองเพราะมองเห็นความสำเร็จของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นความสำเร็จของส่วนรวมคือครอบครัว ต่างฝ่ายต่างเป็นกำลังใจให้กันและกันเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จจนสามารถพูดได้เต็มปากว่าเบื้องหลังความสำเร็จทุกครั้งต้องมีเขาคนนั้นเป็นกำลังใจให้เสมอพรหมวิหารธรรมข้อที่ ๔ คือ อุเบกขา หมายถึงมีใจเป็นกลางวางเฉยต่อสภาวะอันไม่น่าพอใจของคนอื่น เมื่อสามีภรรยามาจากภูมิหลังแตกต่างกันทั้งด้านการศึกษา สังคมและวัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับความแตกต่างนั้นด้วยอุเบกขา คือยอมปล่อยให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความเป็นตัวของตัวเองบ้างโดยไม่มีการก้าวก่ายแทรกแซงจนเกินไป การฝึกมองข้ามข้อบกพร่องของกันและกันก็เป็นอุเบกขาอย่างหนึ่งซึ่งช่วยให้ทนอยู่ด้วยกันได้ ดังที่พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาส ภิกขุ) ประพันธ์ไว้ว่า

      
 เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่ 
                                             เป็นประโยชน์ต่อโลกบ้างยังน่าดูส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
          นอกจากนี้ เรื่องญาติสนิทมิตรสหายของแต่ละฝ่ายอาจเป็นชนวนให้ปวดหัวได้ถ้าไม่รู้จักวางใจเป็นอุเบกขาด้วยการปรับตัวทำใจให้ยอมรับซึ่งกันและกัน แม้ใจจะไม่ชอบแต่ก็ไม่ถึงกับต้องชังกัน แม้จะมีความแตกต่างแต่ก็ไม่ถึงกับต้องแตกแยก นั่นคืออุเบกขาที่ทำให้สามีภรรยาทนกันได้โดยไม่ต้องหย่าร้างเพราะเกิดอาการที่เหลือจะทนพรหมวิหารธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นคุณธรรมพื้นฐานภายในจิตใจที่จะทำให้คู่บ่าวสาวสามารถปฏิบัติหน้าที่ของสามีภรรยาโดยไม่ต้องฝืนใจ หน้าที่จัดเป็นจริยธรรมเพราะเป็นเรื่องที่ต้องประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าทรงแสดงหน้าที่ของสามีภรรยาไว้ในสิงคาลกสูตรดังนี้
สามีต้องปฏิบัติบำรุงภรรยาดังนี้
๑)ยกย่องให้เกียรติในฐานะภรรยา
๒)ไม่ดูหมิ่น
๓)ไม่นอกใจ
๔)มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้าน
๕)ให้เครื่องประดับเป็นของขวัญตามโอกาสอันควร
ภรรยาต้องปฏิบัติบำรุงสามีดังนี้
๑)จัดการงานบ้านให้เรียบร้อย
๒)สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
๓)ไม่นอกใจ
๔)รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
๕)ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง
          เมื่อว่าตามแนวสิงคาลกสูตรนี้ พิธีแต่งงานของชาวพุทธควรกำหนดให้คู่บ่าวสาวกล่าวคำปฏิญาณตนต่อหน้าพระรัตนตรัยคือพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ตามแนวสิงคาลกสูตร
 
โดยฝ่ายเจ้าบ่าวเริ่มก่อนว่า
ข้าพเจ้าขอกล่าวคำปฏิญาณต่อหน้าพระรัตนตรัยว่า ข้าพเจ้าจะรักและซื่อสัตย์ต่อภรรยาของข้าพเจ้าตลอดชีวิต จะยกย่องให้เกียรติ ไม่ดูหมิ่น ไม่นอกใจ มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้าน และให้เครื่องประดับเป็นของขวัญตามโอกาสอันควร"
ฝ่ายเจ้าสาวกล่าวว่า
"ข้าพเจ้าขอกล่าวคำปฏิญาณต่อหน้าพระรัตนตรัยว่า ข้าพเจ้าจะรักและซื่อสัตย์ต่อสามีของข้าพเจ้าตลอดชีวิต จะจัดการงานบ้านให้เรียบร้อย สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี ไม่นอกใจ รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้ และขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง"
 
คำปฏิญาณของคู่บ่าวสาวนี้ควรถือเป็นหัวใจสำคัญของพิธีแต่งงานแบบพุทธจริยธรรมของสามีภรรยาในสิงคาลกสูตรนี้เน้นการแบ่งหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ นั่นคือ สามีเป็นฝ่ายทำงานหารายได้เข้าบ้าน ในขณะที่ภรรยาเป็นใหญ่ในงานบ้าน แต่สามีภรรยาในยุคปัจจุบันอาจช่วยสนับสนุนบทบาทของกันและกันก็ได้ เช่น ภรรยาออกไปทำงานหารายได้นอกบ้าน สามีช่วยภรรยาทำงานบ้าน แต่ไม่ว่าใครจะทำบทบาทใด สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจก็คือต้องมีเวลาให้ความรักและความอบอุ่นแก่สามีภรรยาและบุตรธิดา ความรักและความอบอุ่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสมาชิกภายในครอบครัว บางที ความสำเร็จและความรุ่งเรืองในหน้าที่การงานนอกบ้านก็ไม่สามารถจะแทนที่ความรักและความอบอุ่นภายในบ้าน
ดังเรื่องต่อไปนี้
          เย็นวันหนึ่ง ขณะที่อากาศหนาวจัด แม่คนหนึ่งกำลังเตรียมอาหารมื้อเย็นอยู่ภายในบ้าน มองออกไปนอกบ้านก็เห็นชายชรา ๓ คนนั่งผจญความหนาวอยู่ใต้สะพานลอยหน้าบ้าน แม่จึงบอกลูกชายให้ไปเชิญชายชราทั้งสามคนเข้ามาทานซุปร้อนๆภายในบ้านลูกชายหายไปพักหนึ่งแล้วกลับมารายงานว่า "คุณลุงทั้งสามคนไม่เคยรับเชิญเข้าบ้านพร้อมกัน พวกเขาบอกว่าคุณแม่เลือกเชิญได้เพียงคนเดียว ไม่ทราบว่าจะให้เชิญคนไหน"
แม่สั่งให้ลูกชายไปถามชื่อของคุณลุงทั้งสามก่อนเพื่อประกอบการตัดสินใจลูกชายวิ่งไปถามชื่อแล้วกลับมารายงานว่า คนแรกชื่อนายรัก คนที่สองชื่อนายสำเร็จ คนที่สามชื่อนายรุ่งโรจน์
แม่สั่งลูกให้ไปเชิญนายรักเข้าบ้านลูกชายหายไปพักหนึ่งแล้วกลับมาพร้อมชายชราทั้งสามคนแม่อดถามด้วยความสงสัยไม่ได้ว่า "ตอนแรกลุงบอกว่าจะรับเชิญเข้าบ้านได้เพียงคนเดียว ทำไมตอนนี้จึงมาพร้อมกันทั้งสามคน ชายชราตอบว่า "นั่นขึ้นอยู่กับว่าท่านเชิญใครเข้าบ้าน ถ้าท่านเชิญนายสำเร็จหรือนายรุ่งโรจน์ ท่านจะได้เพียงคนเดียว แต่ถ้าท่านเชิญนายรักเข้าบ้าน นายสำเร็จและนายรุ่งโรจน์จะตามเข้าบ้านมาด้วย"
ความรักสามัคคีมีอยู่ในที่ใด ที่นั่นก็จะประสบความสำเร็จและความรุ่งโรจน์ แต่ที่ใดเน้นแต่ความสำเร็จหรือความรุ่งโรจน์ก็ไม่แน่ว่าที่นั่นจะมีความรัก ความรักเป็นพื้นฐานของชีวิตครอบครัว เมื่อมีความรักอยู่ภายในบ้าน ความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองก็จะตามเข้าบ้านมาเองโดยไม่ชักช้า ที่ใดมีรักที่นั่นมีความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรือง
         จากธรรม เรื่องธรรมกับการแต่งงานนี้เป็นสิ่งน่าคิด สำหรับยุคเศรษฐกิจพอเพียง ในปัจจุบัน เนื่องจาก การเลิกร้างกันของครอบครัวก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย ปัญหาตรง ที่สุดในครอบครัวคือ ลูกจะขาดความอบอุ่น เมื่อบ้านไม่อบอุ่น ก็จะเกิดการแสวงหาสิ่งที่ขาดในทางที่ผิด เช่น ยาเสพติด อบายมุขต่าง ๆ จะตามมามกมาย จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของข้าเจ้า เป็นข้อพิสูจน์หนึ่งของความรักที่มีให้แก่กัน ข้าพเจ้าโชคดีที่ยังมีโอกาสวันนี้ได้ สร้างความรัก เติมเต็มในส่วนที่ขาดในครอบครัว ขอให้หยุดแสวงหาความรักภายนอก และจงกลับมาหาความรักภายในที่มีอยู่แล้ว อันอาจทำให้ปัญหาต่าง ๆ ของสังคมลดลง เป็นปัจจัยที่จะทำให้เราได้ใช้ ความรู้ และประสบการณ์ ที่มีอยู่ ด้วยสมอง และสองมือ กลับมาพัฒนาสังคม และประเทศชาติสืบไป

วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

แรงจูงใจสู่เป้าหมายเบื้องต้นของชีวิต

คำว่า "พอเหมาะพอควร" นี้ เรามักใช้เรียกอย่างย่อ ๆ ด้วยคำว่า "พอ" หรือ "รู้จักพอ" ฉะนั้นคำว่า "รู้จักพอ" ในทางพุทธธรรม จึงมิได้หมายความว่าหยุดนิ่งหรืออยู่กับที่ แต่หมายถึง"รู้จักความพอเหมาะพอควร" ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อการบริโภคโดยไม่จำกัดว่าบริโภคอาหารหรือบริโภคลาภ ยศ สรรเสริญ มิใช่ว่าเห็นอาหารอร่อยก็รับประทาน จนอึดอัด ในทำนองเดียวกัน มิใช่ว่าเห็นลาภ ยศ สรรเสริญ มากองอยู่เฉพาะหน้า ก็เร่งกอบโกยจนขาดสติ "

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตของบุคคลอาจพอศึกษาได้จากคำถามที่ว่า "แต่ละบุคคลต้องการอะไรในชีวิต" แม้คำถามนี้จะเป็นคำถามพื้นฐานคล้ายหญ้าปากคอก แต่บ่อยครั้งสำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างทั่วไป ความต้องการของมนุษย์ยอมแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ถ้าพินิจพิเคราะห์ให้กว้างไกลแล้วก็พอจะทราบได้ว่าความต้องการของคนไทยในยุคปัจจุบันมักมุ่งเน้นที่ความต้องการภายนอกเป็นสำคัญอย่างไรก็ดี หลักธรรมในพระพุทธศาสนาก็ได้ครอบคลุมถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยสี่ อันได้แก่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ปัจจัยนอกเหนือจากนี้ยังรวมถึงความต้องการทางเพศและความต้องการ เกียรติยศชื่อเสียง ซึ่งพุทธทาสภิกขุเรียกโดยย่อว่า "กิน กาม เกียรติ" ดังนั้นความต้องการภายนอกของมนุษย์จึงพอจัดกลุ่มได้คือ

(1) ความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเครื่องบำรุงความสุข
(2) ความต้องการทางเพศ ความรัก และการเป็นเจ้าของ
(3) ความต้องการชื่อเสียง เกียรติยศ ตำแหน่งหน้าที่การงาน และการยกย่องในสังคม

กล่าวตามความเป็นจริง ความต้องการทั้ง 3 นี้ จัดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่อยากมีอยากได้สิ่งดังกล่าวในชีวิต คำถามที่ต้องตามมาคือทำอย่างไรจึงจะได้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ตามความปรารถนาของตน คำตอบก็คือ การที่จะได้สิ่งต่าง ๆ ตามความต้องการก็ด้วยการ "ทำงาน" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักพุทธธรรมเน้นว่าจำเป็นต้องเป็นการประกอบอาชีพที่ชอบ(สัมมาอาชีวะ) และเป็นการกระทำที่ชอบ (สัมมากัมมันตะ) งานจึงเปรียบเสมือนบันไดทองที่ทอดยาวให้บุคคลก้าวไปสู่เป้าหมายในชีวิต งานที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์ซึ่งในหลักการของพระพุทธศาสนา ก็ปรากฏคำสอนที่ว่า "บุคคลผู้ทอดทิ้งการงาน ย่อมสูญเสียผลประโยชน์อันควรมีควรได้จากชีวิต"
นอกจากนี้ปรัชญาเมธีหลายท่านก็ได้กล่าวในทำนองเดียวกับหลักธรรมทางพุทธศาสนาดังเช่น
วอลแตร์ถือว่า "งานคือรากฐานของชีวิตมนุษย์"
เวอร์ยิลกล่าวเสริมว่า "การมุ่งมั่นทำงานอย่างแม้จริง ย่อมชนะทุกสิ่งที่ขวางกั้น"
และคำพังเพยในประเทศไทยสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีอยู่ว่า
"งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" เป็นต้น

งานทุกลักษณะที่ชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมสามารถตอบสนองความต้องการในชีวิตของมนุษย์ได้ แต่อาจมุ่งเน้นการตอบสนองสำหรับความต้องการภายนอกแต่ละประเภท ในระดับที่แตกต่างกัน ดังเช่นการทำงานในภาคเอกชน อาจสนองตอบต่อความมั่งคั่งสมบูรณ์ได้มากกว่าการทำงานในภาครัฐบาล แต่ในทางกลับกัน การทำงานในภาครัฐบาลก็ยังคงให้ความมั่นคงและเกียรติยศสูงกว่าการทำงานในภาคเอกชนโดยส่วนรวม อย่างไรก็ตามหน้าที่การงานนั้น จัดเป็นเพียงช่องทางหรือช่องโอกาสที่เปิดให้บุคคลก้าวไปสู่ความสำเร็จในชีวิตเท่านั้น และความสำเร็จจะเกิดขึ้นหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับบุคคลนั้น ว่า มุ่งอุทิศตนเพื่อการทำงานให้บรรลุถึงเป้าหมายในชีวิตเพียงใด ด้วยเหตุนี้บุคคลที่ทำงานด้วยความทุ่มเทเพื่องานในระดับที่แตกต่างกัน ย่อมได้รับผลจากการทำงานไม่เหมือนกัน บุคคลผู้ทำงานอย่างทุ่มเทด้วยความมุ่งหวังให้งานสำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพจัดได้ว่าเป็นบุคคลผู้มีแรงจูงใจ หรือมี "ไฟ" ในการทำงานส่วนการกระตุ้น "ไฟ" หรือจูงใจในการทำงานก็มิใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนถึงเครื่องมือหรือสูตรสำหรับกระตุ้นแรงจูงใจดังกล่าวเมื่อ 25 ศตวรรษมาแล้ว ซึ่งพุทธบริษัทเรียกเครื่องมือนี้ว่า "อิทธิบาทสี่" กล่าวโดยย่อ อิทธิบาทสี่ คือหลักธรรมที่บันดาลความสำเร็จของงานตามประสงค์ หรืออาจพรรณนาว่าเป็นเครื่องช่วยให้บุคคลมีอิทธิฤทธิ์ที่จะประสบความสำเร็จในทางที่เหมาะที่ควร แต่การมีอิทธิฤทธิ์ในทางพุทธศาสตร์ไม่ใช่โดยอาศัยเครื่องรางของขลังวัตถุมงคล ในทางตรงข้ามบุคคลสามารถมีอิทธิฤทธิ์ดังกล่าวได้ในทางพุทธโดยอาศัย ฉันทะ วิระยะ จิตตะ และวิมังสา

ฉันทะ หมายถึงความพอใจรักใคร่ในการงานที่กระทำ ประเด็นนี้นับว่ามีความสำคัญและเป็นก้าวแรกของการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ บุคคลต้องเกิดความรักในงานที่ทำ หรือในงานที่จะต้องทำเสียก่อน ในหลักการบริหารงานจึงสนับสนุนให้นักบริหารรู้จักใช้คนตามความถนัดและความชอบหรือที่พุดกันว่า "ใช้คนให้ถูกกับงาน" อย่างไรก็ดีบุคคลไม่ใช่วัสดุสิ่งของที่เมื่อถูกจับวางตรงที่ใดแล้วจะต้องอยู่ที่ตรงนั้น ฉะนั้น ถ้าบุคคลรู้สึกว่าตนเองถูกใช้งานไม่ตรงกับความรู้ความสามารถและความถนัดก็ควรหาทางปรับเปลี่ยนงาน ให้ตรงกับที่ใจรักใจชอบ บุคคลที่ได้ทำงานที่ตรงกับใจรักใจชอบและสอดคล้องกับเป้าหมายของชีวิตย่อมมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานในระดับสูง แต่มิใช่ว่าบุคคลทุกคนจะมีโอกาสดังที่กล่าว บุคคลบางคนอาจมาตระหนักในภายหลังว่า ตนไม่ชอบงานที่ทำ และอยากเปลี่ยนงานซึ่งถ้ายังไม่สายเกินไปก็ควรพยายามเปลี่ยน ในทางตรงข้าม ถ้าสายเกินไปจนไม่อาจย้อนกลับได้ หนทางที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือ การปรับตัวให้ชอบงานให้รักงานนั้น เพราะการที่บุคคล "แสร้งว่า" ชอบหรือรักสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเสมอต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ ในที่สุดก็จะสามารถชอบและรักอย่างแท้จริงขึ้นมาได้เช่นกัน

วิริยะ หมายถึงความเพียรพยายามในการประกอบการงานนั้น ประเด็นข้อที่สองนี้คือหัวใจของความสำเร็จในกิจการทั้งปวงดังสุภาษิตที่ว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" ซึ่งสอดคล้องกับพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า "ทางไปสู่เกียรติศักดิ์จักประดับด้วยดอกไม้หอมหวนยวนจิตไซร้ไป่มี" บุคคลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานต่างก็ต้องต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคนานับประการมาด้วยกันทั้งนั้น การหวังความสำเร็จในลักษณะราชรถมาเกยมักปรากฏเฉพาะในเทพนิยาย เพราะในชีวิตจริง ความเพียรพยายามของบุคคลคือราชรถที่จะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ดังที่มุ่งมาดปรารถนา ในหลักธรรมคำสอนของหลายศาสนา เช่น คริสต์ อิสลาม และ พุทธ มีความสอดคล้องต้องกันในประเด็นที่ว่า พระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะช่วยบุคคลที่รู้จักช่วยตนเองก่อน

จิตตะ หมายถึง ความใฝ่ในงานไม่ทอดทิ้งธุระประการที่สามนี้มีความหมายต่อเนื่องกับประเด็นที่สอง กล่าวคือ เมื่อบุคคลมีความเพียรพยายามกระทำสิ่งใดแล้ว ก็ควรเฝ้าติดตามเอาใจใส่กระทำในสิ่งนั้นอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และเป็นระบบ ไม่ว่าจะต้องใช้เวลายาวนานสักเพียงใด มิใช่เพียรพยายามจนกระทั่งอดตาหลับขับตานอนในตอนต้น แต่พอต่อมาก็ค่อย ๆ คลายความสนใจจนเลิกไปทั้ง ๆ ที่งานนั้นยังไม่เสร็จสิ้น บุคคลประเภทพลังแรงในตอนต้น แต่ถอดถอยในตอนท้ายก็จัดเป็นบุคคลที่จะประสบความสำเร็จได้โดยยากเช่นกัน เปรียบประดุจชาวสวนผู้ปลูกไม้ผลด้วยความเพียรพยายาม หมั่นรดน้ำพรวนดินบำรุงปุ๋ยอย่างเต็มกำลังในระยะแรกเริ่ม แต่กลับมาหยุดเสียกลางคัน กรณีเช่นนี้ ความสูญเสียย่อมเกิดขึ้นทั้งกำลังงานทั้งทุนทรัพย์โดยไม่ได้ผลได้ดังที่ตั้งใจไว้แต่ต้น ความเอาใจใส่ไม่ทอดทิ้งธุระจึงเกี่ยวพันกับสมาธิ ซึ่งดังที่กล่าวแล้วว่าหมายถึงสภาวจิตที่สงบและมั่นคงในเรื่องที่กำลังกระทำอยู่ไม่ฟุ้งซ่านไปถึงเรื่องอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน ความใฝ่ใจต่อการงานที่กระทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง จึงเป็นการสานต่อความพยายามที่เริ่มต้นไว้ดีแล้ว ให้คงอยู่ตลอดการงานที่กระทำอยู่นั้นจนกระทั่งสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

วิมังสา หมายถึงความหมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลในงานที่ทำ พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนให้บุคคลรักงานเพียรพยายามในงาน ต่อสู้อุปสรรคในงานและใจจดใจจ่อต่องาน มิใช่ด้วยความลุ่มหลงงมงาย แต่ด้วยเหตุผล ด้วยความรู้จักใคร่ครวญพินิจพิเคราะห์ในงานหรือกิจการทั้งปวงที่บุคคลนั้นมุ่งมั่นกระทำอยู่ การพิจารณาหาเหตุผลจนเข้าใจความเป็นจริงได้อย่างแจ่มแจ้ง ย่อมช่วยให้บุคคลไม่ไขว้เขวโดยง่าย ไม่หลงตามคารมการหลอกล่อของบุคคลอื่น เพราะบุคคลนั้นเข้าใจถึงความสำคัญ ความจำเป็นและจุดมุ่งของงานที่ตนกำลังดำเนินการอยู่ว่า จะสามารถสนองตอบองค์ต่อองค์การที่ตนสังกัดและสนองตอบต่อเป้าหมายชีวิตของตนเองได้อย่างไร การหมั่นพิจารณาตรึกตรองก็เพื่อเตือนตนมิให้ทำงานแบบหูหนวกตาบอด แต่ทำงานอย่างผู้รู้แจ้งเห็นจริงโดยตลอด ซึ่งหมายความว่าบุคคลจะสามารถเข้าใจได้ว่างานของตนจะไม่มุ่งตอบสนองแต่เฉพาะความต้องการของตนและหน่วยที่ตนสังกัดเท่านั้น แต่สามารถเข้าใจได้ด้วยว่างานนั้นจะสามารถส่งกระทบถึงสังคมโดยส่วนรวมได้อย่างไรและเพียงใด

ความหมายของอิทธิบาทสี่ ได้รับการผูกเป็นโครงโลกนิติไว้บทหนึ่ง ความว่า
พอใจเป็นเหตุให้       พากเพียร
จิตมุ่งไป่พาเหียร              สิ่งนั้น
ดำริตริตรองเขียน         มูลเหตุ ผลนา
จักสำเร็จสมใจหมั่น     เที่ยงแท้ ธรรมดา

อิทธิบาทสี่ จึงเป็นเคล็ดลับของความสำเร็จในกิจการทั้งปวงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงาน บุคคลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานต่างอาศัยเคล็ดลับนี้จะต่างกันก็แต่เพียงชื่อเรียกในแต่ละภาษา และแต่ละสังคมเท่านั้น อนึ่งเพื่อสนับสนุนความเป็นสากลของหลักอิทธิบาทสี่ ผู้เขียนจึงใคร่ยกตัวอย่างในสองสังคมประกอบการพิจารณา

ตัวอย่างที่หนึ่ง คือ ดุกแห่งเวลลิงตัน ซึ่งเป็นแม่ทัพคนสำคัญของอังกฤษผู้สามารถชนะจักรพรรดิ นโปเลียน อย่างไรก็ดี ก่อนการชนะ นโบเลียนในการรบครั้งสำคัญ เวลลิงตันได้เคยปราชัยแก่นโบเลียนมาแล้วหลายครั้ง แต่เมื่อพ่ายในการรบแต่ละครั้งเวลลิงตันไมได้ทอดอาลัยด้วยการดื่มเหล้าเมาสุราในลักษณะทำลายตนเอง ตรงกันข้ามเวลลิงตันกลับมุมานะเพียรพยายามศึกษาค้นหาจุดอ่อน จุดบกพร่องในการรับของตนและวิเคราะห์ ค้นหาจุดเด่นในการรบของนโปเลียน เวลลิงตันได้เพียรพยายามอยู่เช่นนี้หลายครั้งหลายคราว จนในที่สุด เวลลิงตันสามารถชนะ นโปเลียนในการรบครั้งสำคัญที่วอเตอร์ลู อันเป็นการรบที่เปลี่ยนโฉมหน้าของประวัติศาสตร์ยุโรป

ตัวอย่างที่สอง คือ มหาตมคานธี ซึ่งเป็นมหาบุรุษทางเอเชีย ท่านผู้นี้ได้อุทิศเกือบตลอดชีวิตของท่านสำหรับการต่อสู้เพื่ออิสระและเสรีภาพของชาวอินเดีย ซึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษทั้งในแอฟริกาใต้และในอินเดีย การต่อสู้ของคานธีคือด้วยอหิงสธรรมซึ่งหมายถึงวิธีการอดกลั้นและไม่ใช่ความรุ่นแรง เช่น อดข้าวประท้วงบ้าง อดทนต่อการถูกทุบตีบ้าง และสันติวิธีอื่น ๆ บ้าง ในการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย คานธีถูกอังกฤษจองจำ หลายครั้งตลอดช่วงชีวิต แต่ก็ไม่สามารถขัดขวางหรือล้มเลิกความพยายามของคานธีได้ จนกระทั่งประเทศอินเดียได้รับเอกราชในที่สุด

จากกรณีอย่างที่กล่าวมานี้จึงพอเห็นได้ว่าการกระตุ้นแรงจูงใจในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้สามารถกระทำได้โดยอาศัยอิทธิบาทสี่ สำหรับกรณีตัวอย่างของไทยก็มีอยู่มาก เช่น กรณีชาวบ้านบางระจันรักษาบ้านบางระจันจากพม่า กรณีพระยาตากกอบกู้เอกราชของชาติไทย และกรณีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้ทรงวิริยะอุตสาหะรักษาเอกราชของชาติ จากมหาอำนาจตะวันตกเป็นต้น กล่าวได้ว่าหลักธรรมของพุทธศาสนาเป็นหลักสากลซึ่งบุคคลย่อมได้รับการขนานนามว่าเป็นชาวพุทธหรือเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าบุคคลนั้นได้เข้าถึงการปฏิบัติตามหลักการอันเป็นสากลดังกล่าวในชีวิตประจำวัน พระพุทธเจ้าได้ชี้แนะให้บุคคลตระหนักถึงความสำคัญของการทำงาน และให้ทราบถึงคุณค่าของการทุ่มเทอุทิศตนเพื่องาน โดยมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นหลักดังปรากฏตามพระพุทธพจน์ที่ว่า "โยคา เว ชายเต ภูริ" ซึ่งหมายความว่า ความฉลาดรอบรู้ย่อมบังเกิดจากประสบการณ์ในชีวิต อิทธิบาทสี่จึงเปรียบเสมือนเครื่องกระตุ้มแรงจูงใจและสงวนรักษาแรงจูงใจการทำงานไว้ด้วยในขณะเดียวกัน

แรงจูงใจในการทำงานนับว่ามีความสำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่ควรประพฤติอันจะนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ในขณะเดียวกัน แรงจูงใจดังกล่าวก็จะเบี่ยงเบนบุคคลจากพฤติกรรมซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จที่พึงปรารถนา กล่าวโดยย่อ บุคคลผู้มีเป้าหมายในชีวิตและมีความปรารถนาอย่างแรง กล้า ที่จะบรรลุถึงเป้าหมายนั้นยอมสามารถกระตุ้นพลังภายในมาใช้ประโยชน์ เพื่อการสร้างชีวิตสร้างอนาคตได้ บุคคลเช่นนี้ตามปกติจะไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งมอมเมา หรือไม่ยอมตกเป็นทาสของสุรา นารี พาชี และกีฬาบัตร เพราะบุคคลผู้มีเป้าหมายชีวิตในทางที่ถูกที่ควรย่อมตระหนักดีกว่าอบายมุข หรือหนทางแห่งความเสื่อมเหล่านี้ย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่จะพาตนไปสู่เป้าหมายของชีวิต ในทางตรงข้ามสิ่งมอมเมารังแต่จะทำให้บุคคลหลงทางและเสียเวลาอันมีค่าในชีวิต ในประเด็นนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ขอให้เธอทั้งหลาย
จงหมั่นพิจารณาอยู่เสมอว่า วันคืนล่วงไป
บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่

พุทธพจน์บทนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของเวลาในชีวิตที่เมื่อล่วงเลยไปแล้วย่อมไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ บุคคลผู้มุ่งมั่นความสำเร็จในชีวิตจักต้องรู้จักถนอมเวลา ดังสุภาษิตที่ว่า " เวลา และวารี มิใยดีจะคอยใคร "

ธรรมะกับการปฏิบัติงาน

ธรรมะกับการปฏิบัติงาน


ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวว่า"ธรรมะคือการปฏิบัติงาน"

ชีวิตของ มนุษย์เราส่วนใหญ่อยู่กับการทำงาน ถ้าเราคิดว่าจะเอาเวลาว่างมาปฏิบัติธรรมวันละ 1-2 ชั่วโมง หรือช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ค่อยปฏิบัติธรรมแล้ว ยังน้อยไป

ชีวิตของ มนุษย์นั้นน้อยนักเปรียบได้ดั่งน้ำค้างบนยอดหญ้ายามเช้า....เมื่อถูกแสงแดด ย่อมระเหยแห้งไป......ดังนั้นจึงไม่ควรดำรงชีวิตอยู่อย่างประมาท

ชีวิตที่อยู่อย่างประมาทคือชีวิตอย่างไร

ก็คงต้องตอบว่าชีวิตที่อยู่อย่างปราศจากธรรมะนั้นช่างประมาทเสียนี่กระไร เปรียบดังผู้ที่ตายแล้ว ดั่งคำกล่าวว่า

ธรรมะคือชีวิต ชีวิตคือธรรมะ

แต่ ชีวิตเราส่วนใหญ่อยู่กับงาน ไม่ว่างานส่วนตัวหรืองานส่วนรวม ดังนั้นจึงควรใช้ชีวิตส่วนใหญ่ให้คุ้มค่ามีธรรมะอยู่ด้วยเสมอ นั่นคือ ชีวิต....งาน....ธรรมะ..ควรไปด้วยกันเสมอ จึงจะได้ชื่อว่าอยู่ด้วยความไม่ประมาท

สมดั่งปัจฉิมโอวาทบางตอนกล่าวไว้ว่า "จงยังประโยชน์แห่งตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

การปฎิบัติงานคือการปฎิบัติธรรมนั้นเป็นอย่างไรก็ขอสรุปสั้นๆเป็นข้อๆดังนี้

1. เมื่อทำงานอะไรอยู่ให้มีสติอยู่กับงานที่ทำเสมอ เมื่อสติตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมเกิดสมาธิในการทำงาน งานมักไม่ผิดพลาด เมื่อสมาธิตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมเกิดปัญญา งานที่ทำก็เจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ

2.เมื่อประสบปัญหา โลกธรรมแปด เราต้องใช้ มรรคแปด เป็นหนทางแก้ไข
เมื่ออยู่ในโลก ในสังคม ย่อมหลีกเลี่ยง โลกธรรมแปด ไม่ได้ อย่าไปยึดมั่นถือมั่น
พระ พุทธเจ้าของเราสอนให้อยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด บุคคลที่นึกถึงอดีตที่ผ่านมา หรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง ย่อมหาความสุขไม่ได้เลย

3.อาศัยธรรมะแห่งการอยู่ร่วมกัน คือ พรหมวิหารสี่ คือธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบได้แก่

***เมตตา คือปราถนาเห็นผู้อื่นพ้นทุกข์ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า

***กรุณา คือช่วยให้ผู้อื่นได้พ้นทุกข์ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์

***มุทิตา คือ ยินดีเมื่อผู้อื่นมีความสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

***อุเบกขา คือวางเฉยเมื่อเราช่วยแล้ว หรือช่วยไม่ได้ แล้วเค้ายังไม่พ้นทุกข์ ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้ง รู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน

ที่สำคัญคือการให้อภัย....
หิริ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวและละอายต่อบาป
ทมะ และ ขันติ คือการรู้จักข่มใจและอดทน
เมื่อเรามีธรรมะอยู่ตลอดแล้วคงหนีไม่พ้นคำกล่าวว่า ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน

ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน

มนุษย์มีกรรมเหมือนสัตว์อื่นๆ แต่มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียว ที่เปลี่ยนแปลงกรรมได้


 

เพราะมนุษย์มีความคิด ความรู้สึก เลือกที่จะทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะดี หรือจะชั่ว
ไม่ว่ากรรมเก่าเราจะทำให้ชีวิตชาตินี้เราจะตกทุกข์ได้ยากเพียงใด
เราก็สามารถอดทน ขยัน และเปลี่ยนแปลงชีวิตในทางที่ดีได้เช่นกัน

ตายจากชาติที่แล้ว เกิดมาใหม่ในชาตินี้ ก็เปรียบเหมือน การนอนหลับแล้วตื่นขึ้นมาวันใหม่
เมื่อวาน ขี้เกียจ ไม่ไปเดินเร่ขายของ จึงไม่มีรายได้
แต่วันนี้ ตื่นมาพร้อมความไม่มีเงินเหมือนเดิม แต่ตั้งมั่นว่าจะขายของ และก็ออกเดินเร่ขายของ จึงทำให้วันนี้มีเงิน

นี่คือการเปลี่ยนแปลงกรรม หรือเรียกว่า ลิขิตชีวิตตัวเองจากมานะของตนเอง โดยปราศจากการอ้อนวอนแล้วนั่งนอนรอผู้บันดาล
ดังนั้นมนุษย์ไม่เหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน ที่มีวิถีชิวิตเป็นรูปแบบ ไม่สามารถทำอะไรได้ เกิดมาชาติหนึ่ง รู้จักแต่เพียง กิน ถ่าย ผสมพันธุ์ นอน เท่านั้นเอง
แต่ก็มีมนุษย์หลายคน ทำตัวเหมือนสัตว์เดรัจฉาน และบ่นถึงชีวิตตัวเองว่าเกิดมาอาภัพ ทุกสิ่งไม่เพรียบพร้อมได้แต่ อ้อนวอนผู้บันดาล แล้วนั่งงอมืองอเท้ารอไปวันๆ
มีคนบางคนเข้าใจว่า การกระทำความดี หรือปฏิบัติกิจศาสนานั้น เป็นเรื่องของคนแก่ ส่วนคนหนุ่มสาวนั้นยังไม่จำเป็น ความเข้าใจในรูปนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด ธรรมะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เหมือนกับอาหารสำหรับหล่อเลี้ยงร่างกาย เป็นสิ่งจำเป็นแก่ ทุกคน ถ้าร่างกายของใครขาดอาหาร ก็คงถึงแก่ความตาย
       

ธรรมะ

เป็นอาหารหล่อเลี้ยงใจ ใจของใครขาดธรรมะเขาก็คงเป็นอยู่แบบคนที่ตายแล้ว การตายในขณะเป็นอยู่ เป็นการตายที่ร้ายแรงกว่าการตายของคนตายจริงๆ เพราะคนตายจริงๆ ไม่ให้โทษแก่ใคร แต่คนตายยังเป็นอยู่เพราะขาดคุณความดีนั้น เป็นภัยต่อสังคมมาก จึงเป็นตายที่น่ากลัวโดยแท้
       

ธรรมะประจำใจ

ธรรมะเป็นเกราะป้องกันมิให้เราตกไปสู่ความชั่วทั้งในโลกนี้และโลกหน้า อีกประการหนึ่งการกระทำความชั่วย่อมเกิดแก่คนทุกเพศทุกวัย ถ้าหากเขาไม่มีเครื่องห้ามเครื่องกันแล้ว ความลำบากก็เกิดแก่เขาได้ง่าย โดยเฉพาะ คนหนุ่มสาวจิตใจกำลังคึกคะนองร้อนแรง ถ้าเอนไปในทางดีก็ดีนัก ถ้าเอนไปในทางชั่วก็ชั่วนัก แต่ส่วนมากมักเอนไปในทางที่ชั่ว เพราะธรรมชาติของใจคน มีปกติเดินไปในทางต่ำอยู่เสมอ ยิ่งขาดการห้ามด้วยแล้วก็ไปกันใหญ่ ประดุจม้าคะนองที่ขาดสารถีบังคับ ม้าที่กำลังคะนองและพยศต้องการมีบังเหียนและควานม้าผู้จับบังเหียนไว้ฉันใด คนหนุ่มสาวที่กำลังคะนองก็ควรจักมีสิ่งสำหรับบังคับไว้ฉันนั้น สิ่งนั้นไม่มีอะไรดีไปกว่าธรรมะ
     
       คนหนุ่มสาวยังมีหวังที่จะอยู่ไปในโลกอีกนานปีมากกว่าคนแก่ และจักมีโอากาสได้กระทำความดีแก่โลกมากขึ้นไปอีก ความจำเป็นในการแสวงหาหลักทางใจจึงมากกว่าคนแก่เป็นธรรมดา คนไม่มีหลักศาสนาในใจเป็นคนปราศจากเครื่องยึดเหนี่ยว เขาอาจทำผิดทำเสียเมื่อไร ก็ได้...
     
       ธรรมกับอธรรมให้ผลต่างกัน คือ ธรรมจะนำตนไปสู่สถานที่ดี อธรรมนำตนไปสถานที่ชั่ว ท่านชอบอย่างไหนก็เลือกเอาเอง นึกว่าท่านคงไม่เลือกอธรรมแน่ๆ เพราะใจของท่านยังปรารถนาความสุขความเจริญอยู่ จึงหวังว่าท่านคงเลือกเอาธรรมะเป็นฝ่ายดี เป็นฝ่ายที่ทำให้ท่านเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์
     
       การที่เราเรียกกันว่ามนุษย์นั้น ย่อมหมายถึงร่างกายและจิตใจอันอาศัยกันอยู่ ดังคำว่า กายกับใจประกอบกันเข้า คำว่า “คน” จึงเกิดขึ้น ถ้ามีกายไม่มีใจ หรือมีแต่ใจไม่มีกายก็หมดความเป็นคน ทั้งสองอย่างต้องอาศัยรวมกันเป็นอยู่เสมอ ในการบำรุงจึงต้องบำรุงทั้งสองอย่าง แต่คนเราส่วนมากมักพอใจบำรุงแต่ส่วนร่างกาย หาสนใจ การบำรุงใจไม่ มิใช่แต่ได้บำรุงเท่านั้น ซ้ำร้ายยังทำลายใจกันเสียด้วย
     
       การทำลายใจของตนก็คือ การห่างเหินจากธรรมะนั่นเอง ถ้าเราบำรุงกายด้วยอาหารการกิน อาบน้ำตกแต่ง อย่างไหนแล้ว เราก็ต้องบำรุงใจด้วยอาหารและน้ำฉันนั้น อาหารของกายเป็นคำข้าว อาหารของใจเป็นธรรมะ ถ้าร่างกายอ้วนพี เพราะได้รับการบำรุงอย่างดีแล้ว ก็ควรบำรุงใจให้เป็นอย่างนั้นด้วย ใจที่ขาดการบำรุงเป็นใจที่ซูบผอม ขาดกำลังสำหรับต่อสู้ เมื่อขาดกำลังย่อมแพ้ข้าศึกได้ง่าย ข้าศึกทางกายได้แก่โรคภัยนานาชนิด ข้าศึกทางใจได้แก่ความชั่ว ทำใจให้อ่อนแอนั่นเอง
     
       ความชั่วที่เรียกว่า กิเลสบ้าง มารบ้าง ซาตานบ้างก็มี และถ้าเอาชนะไม่ได้ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อมัน ความทุกข์ก็เกิดขึ้น ดังคำที่ว่า “การพ่ายแพ้เป็นความทุกข์” ทุกข์เพราะตกอยู่ในอำนาจของมารร้ายที่คอยดึงไปสู่หลุมอบาย ตกเป็นทาสของมัน พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “การเป็นทาสเป็น ทุกข์หนัก” แต่ถ้าเรามีหลักในทางใจ มีอาหารหล่อเลี้ยง มีกำลังสลัดต่อต้าน โดยวิธีการเข้าหาการฟังธรรมะ สนทนาธรรมะ คิดค้นธรรมะให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วลงมือปฏิบัติธรรมะนั้นๆ ให้ใจอ้วนพีมีกำลังมั่นคง ไม่มีข้าศึกใดๆ มาย่ำยีได้เลย เมื่อไม่มีข้าศึกมารบกวน ก็นอนหลับอย่างเป็นสุขในหมู่ของคนที่เป็นสุขและเป็นทุกข์ทั้งหลายธรรมะย่อม รักษาคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรมอย่างนี้