วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เพียงแต่เฝ้าดูความสงสัย จะเห็นที่สิ้นสุดของความสงสัย โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท

 บทความธรรมะวันนี้

   ข้อธรรมนี้ หลวงปู่ชา สุภัทโท ท่านเมตตาตอบไว้นานมาแล้ว แต่ยังคงสดใหม่เสมอสำหรับคนทุกสมัย เพราะตราบใดที่ยังมีนิวรณ์เครื่องปิดกั้นหนทางเจริญครอบงำอยู่ ยังก้าวล่วงไปไม่ได้ อาการเหล่านี้ก็ยังคงวนเวียนมาปรากฏ ท้าทายให้หาทางแก้ไขเสมอ
      
       ลองฟังแนวทางจากคำตอบ แล้วนำไปปฏิบัติกันนะคะ
      
       ‘ ง่วงเหงาหาวนอนมาก ทำให้ภาวนาลำบาก ควรทำอย่างไร
      
         มีวิธีเอาชนะความง่วงได้หลายวิธี ถ้าท่านนั่งอยู่ในที่มืด ย้ายไปอยู่ที่สว่าง ลืมตาขึ้น ลุกไปล้างหน้า ตบหน้าตนเอง หรือไปอาบน้ำ ถ้าท่านยังง่วงอยู่อีก ให้เปลี่ยนอิริยาบถ เดินจงกรมให้มาก หรือเดินถอยหลัง ความกลัวว่าจะไปชนอะไรเข้าจะทำให้ท่านหายง่วง ถ้ายังง่วงอยู่อีกก็จงยืนนิ่งๆ ทำใจให้สดชื่น และสมมติว่าขณะนั้นสว่างเป็นกลางวัน หรือนั่งริมหน้าผาสูงหรือบ่อลึก ท่านจะไม่กล้าหลับ ถ้าทำอย่างไรๆ ก็ไม่หายง่วงก็จงนอนเสีย เอนกายลงอย่างสำรวม ระวังและรู้ตัวอยู่จนกระทั่งท่านหลับไป เมื่อท่านรู้สึกตัวตื่นขึ้นจงลุกขึ้นทันที อย่ามองดูนาฬิกาหรือหลับต่ออีก เริ่มต้นมีสติระลึกรู้ทันทีที่ท่านตื่น
      
         ถ้าท่านง่วงนอนอยู่ทุกวัน ลองฉันอาหารให้น้อยลง สำรวจตัวเอง ถ้าอีกห้าคำท่านจะอิ่มจงหยุด แล้วดื่มน้ำจนอิ่มพอดี แล้ว กลับไปนั่งดูใหม่อีก เฝ้าดูความง่วงและความหิว ท่านต้องกะ ฉันอาหารให้พอดี เมื่อท่านฝึกปฏิบัติต่อไปอีก ท่านจะรู้สึก กระปรี้กระเปร่าขึ้นและฉันน้อยลง ท่านต้องปรับตัวของท่านเอง
      
       ‘ ควรจะนอนหลับมากน้อยเพียงใด
      
         อย่าถาม ตอบไม่ได้ บางคนนอนหลับคืนละประมาณ 4 ชั่วโมงก็พอ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญก็คือ ท่านเฝ้าดูและรู้จักตัวของท่านเอง ถ้าท่านนอนน้อยจนเกินไป ท่านก็จะไม่สบายกาย ทำให้คุมสติไว้ได้ยาก ถ้านอนมากเกินไป จิตใจก็จะตื้อเฉื่อยชา หรือซัดส่าย จงหาสภาวะที่พอเหมาะกับตัวท่านเอง ตั้งใจ เฝ้าดูกายและจิต จนท่านรู้ระยะเวลาหลับนอนที่พอเหมาะสำหรับท่าน ถ้าท่านรู้สึกตัวตื่นแล้วและยังซุกตัวของีบต่อไป นี่เป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมอง จงมีสติรู้ตัวทันทีที่ลืมตาตื่นขึ้น
      
       ‘ จะเอาชนะกามราคะที่เกิดขึ้นระหว่างการฝึกปฏิบัติได้อย่างไร
      
         กามราคะจะบรรเทาลงได้ด้วยการเพ่งพิจารณาถึงความ น่าเกลียดโสโครก (อสุภ) การยึดติดอยู่กับรูปร่างกายเป็นสุดโต่งข้างหนึ่ง ซึ่งเราต้องมองในทางตรงข้าม จงพิจารณาร่างกายเหมือน ซากศพและเห็นการเปลี่ยนแปลงเน่าเปื่อย หรือพิจารณาอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ม้าม ไขมัน อุจจาระ และอื่นๆ จำอันนี้ไว้และพิจารณาให้เห็นจริงถึงความน่าเกลียดโสโครกของร่างกาย เมื่อมีกามราคะเกิดขึ้นก็จะช่วยให้ท่านเอาชนะกามราคะได้
      
       
‘ เมื่อโกรธ ควรทำอย่างไร
      
         ถ้าท่านมีโทสะในขณะภาวนา ให้แก้ด้วยเมตตาจิต ถ้ามีใครทำไม่ดีหรือโกรธ อย่าโกรธตอบ ถ้าท่านโกรธตอบ ท่านจะโง่ยิ่งกว่าเขา จงเป็นคนฉลาด สงสารเห็นใจเขา เพราะว่าเขากำลังได้ทุกข์ จงมี เมตตาเต็มเปี่ยมเหมือนหนึ่งว่าเขาเป็นน้องชายที่รักยิ่งของท่าน เพ่งอารมณ์เมตตาเป็นอารมณ์ภาวนา แผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลก เมตตาเท่านั้นที่เอาชนะโทสะและความเกลียดได้
      
         บางครั้งท่านอาจจะเห็นพระภิกษุรูปอื่นปฏิบัติไม่สมควร ท่านอาจจะรำคาญใจ ทำให้เป็นทุกข์โดยใช่เหตุ นี่ไม่ใช่ธรรมะของเรา ท่านอาจจะคิดอย่างนี้ว่า 'เขาไม่เคร่งเท่าฉัน เขาไม่ใช่พระกรรมฐาน ที่เอาจริงเอาจังเช่นฉัน เขาไม่ใช่พระที่ดี' นี่เป็นกิเลสเครื่องเศร้าหมองอย่างยิ่งของตัวท่านเอง อย่าเปรียบเทียบ อย่าแบ่งเขาแบ่งเรา จงละทิฐิของท่านเสีย และเฝ้าดูตัวท่านเอง นี่แหละคือธรรมะของเรา ท่านไม่สามารถบังคับให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านต้องการหรือเป็นเช่น ท่านได้ ความต้องการเช่นนี้มีแต่จะทำให้ท่าน เป็นทุกข์ ผู้ปฏิบัติภาวนามักจะพากันหลงผิดในข้อนี้ การจับตาดูผู้อื่นไม่ทำให้เกิดปัญญาได้ เพียงแต่พิจารณาตนเองและความรู้สึกของตน แล้วท่านก็จะเข้าใจได้
      
       ‘ ควรจะทำอย่างไรเมื่อสงสัย บางวันวุ่นวายใจด้วยความสงสัยใน เรื่องการปฏิบัติ
      
         ความสงสัยนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทุกคนเริ่มต้นด้วยความ สงสัย ท่านอาจได้เรียนรู้อย่างมากมายจากความสงสัยนั้น ที่สำคัญก็คือ ท่านอย่าถือเอาความสงสัยนั้นเป็นตัวเป็นตน นั่นคืออย่าตกเป็นเหยื่อของความสงสัย ซึ่งจะทำให้จิตใจของท่านหมุนวนเป็นวัฏฏะอันไม่มีที่สิ้นสุด แทนที่จะเป็นเช่นนั้น จงเฝ้าดูกระบวน การเกิดดับของความสงสัยของความฉงนสนเท่ห์ ดูว่าใครคือผู้ที่สงสัย ดูว่าความสงสัยนั้นเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร แล้วท่านจะไม่ตกเป็นเหยื่อของความสงสัยอีกต่อไป ท่านจะหลุดพ้นออกจาก ความสงสัยและจิตของท่านก็จะสงบ ท่านจะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร ปล่อยวางความสงสัยของท่านและเพียงแต่เฝ้าดู นี่คือที่สิ้นสุดของความสงสัย
      
       
‘ วิธีฝึกปฏิบัติ (วิธีภาวนา) มีหลายวิธีจนสับสน
      
         มันก็เหมือนกับการจะเข้าไปในเมือง บางคนอาจจะเข้าเมืองทางทิศเหนือ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ฯลฯ ทางถนนหลายสาย โดยมากแล้วแนวทางภาวนาก็แตกต่างกันเพียงรูปแบบเท่านั้น ไม่ว่าท่านจะเดินทางสายหนึ่งสายใด เดินช้าหรือเดินเร็ว ถ้าท่านมีสติอยู่เสมอ มันก็เหมือนกันทั้งนั้น ข้อสำคัญที่สุดก็คือ แนวทางภาวนาที่ดีและถูกต้องจะต้องนำไปสู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ลงท้ายแล้ว ก็ต้องปล่อยวางแนวทางภาวนาทุกรูปแบบด้วย ผู้ปฏิบัติต้องไม่ยึดมั่นแม้ในตัวอาจารย์ แนวทางใดที่นำไปสู่การปล่อยวาง สู่การไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นทางปฏิบัติที่ถูกต้อง
      
         ท่านอาจจะอยากเดินทางไปเพื่อศึกษาอาจารย์ท่านอื่นอีก และลองปฏิบัติตามแนวทางอื่นบ้างก็ได้ พวกท่านบางคนก็ทำเช่นนั้น นี่เป็นความต้องการตามธรรมชาติ ท่านจะรู้ว่า แม้ได้ถามคำถามนับพันคำถามก็แล้ว และมีความรู้เรื่องแนวทางปฏิบัติอื่นๆ ก็แล้ว ก็ไม่อาจจะนำท่านเข้าถึงสัจธรรมได้ ในที่สุดท่านก็จะรู้สึกเบื่อหน่าย ท่านจะรู้ว่าเพียงแต่หยุดและสำรวจตรวจสอบดูจิตของท่านเองเท่านั้น ท่านก็จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสสอนอะไร ไม่มีประโยชน์ที่จะแสวงหาออกไปนอกตัวเอง ผลที่สุดท่านต้องหันกลับมา เผชิญหน้ากับสภาวะที่แท้จริงของตัวท่านเอง ตรงนี้แหละที่ท่านจะเข้าใจธรรมะได้
      
       ‘ จำเป็นไหมที่จะต้องนั่งภาวนาให้นานๆ
      
         ไม่จำเป็นต้องนั่งภาวนานานนับเป็นหลายๆ ชั่วโมง บางคนคิดว่ายิ่งนั่งภาวนานานเท่าใดก็จะยิ่งเกิดปัญญามากเท่านั้น ผมเคยเห็นไก่กกอยู่ในรังของมันทั้งวันนับเป็นวันๆ ปัญญาที่แท้เกิดจากการที่เรามีสติในทุกๆ อิริยาบถ การฝึกปฏิบัติของท่านต้องเริ่มขึ้นทันทีที่ท่านตื่นนอนตอนเช้า และต้องปฏิบัติให้ต่อเนื่องไปจนกระทั่งนอนหลับไป อย่าไปห่วงว่าท่านต้องนั่งภาวนาให้นานๆ สิ่งสำคัญก็คือท่านเพียงแต่เฝ้าดูไม่ว่าท่านจะเดินอยู่ หรือนั่งอยู่ หรือกำลังเข้าห้องน้ำอยู่
      
         แต่ละคนต่างก็มีทางชีวิตของตนเอง บางคนต้องตายเมื่อมีอายุ 50 ปี บางคนเมื่ออายุ 65 ปี และบางคนเมื่ออายุ 90 ปี ฉันใดก็ฉันนั้น ปฏิปทาของท่านทั้งหลายก็ไม่เหมือนกัน อย่าคิดมาก หรือกังวลใจในเรื่องนี้เลย จงพยายามมีสติและปล่อยทุกสิ่งให้เป็นไปตามปกติของมัน แล้วจิตของท่านก็จะสงบมากขึ้นๆ ในสิ่งแวดล้อมทั้งปวง มันจะสงบนิ่งเหมือนหนองน้ำใสในป่า ที่ซึ่งบรรดาสัตว์ป่าที่สวยงาม และหายากจะมาดื่มน้ำในสระนั้น ท่านจะเข้าใจถึงสภาวธรรมของสิ่งทั้งปวง (สังขาร) ในโลกอย่างแจ่มชัด ท่านจะได้เห็นความอัศจรรย์และแปลกประหลาดทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไป แต่ท่านก็จะยังคงสงบอยู่เช่นเดิม ปัญหาทั้งหลายจะบังเกิดขึ้นแต่ท่านจะรู้ทันมันได้ทันที นี่แหละคือศานติสุขของพระพุทธเจ้า
      
       ‘ จิตฟุ้งซ่านมากทั้งๆ ที่พยายามจะมีสติอยู่
      
         อย่าวิตกในเรื่องนี้เลย พยายามรักษาจิตของท่านให้อยู่กับปัจจุบัน เมื่อเกิดรู้สึกอะไรขึ้นมาภายในจิตก็ตาม จงเฝ้าดูมัน และปล่อยวาง อย่าแม้แต่หวังที่จะไม่ให้มีความนึกคิดเกิดขึ้นเลย แล้วจิตก็จะเข้าสภาวะปกติตามธรรมชาติของมัน ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างความดีกับความชั่ว ร้อนกับหนาว เร็วหรือช้า ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีตัวตนเลย อะไรๆ ก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เมื่อท่านเดินบิณฑบาตไม่จำเป็นต้องทำอะไรพิเศษ เพียงแต่เดินและเห็นตามที่เป็นอยู่ อย่ายึดมั่นอยู่กับการแยกตัวไปอยู่แต่ลำพัง หรือกับการเก็บตัว ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด จงรู้จักตัวเองด้วยการปฏิบัติตนเป็นปกติตามธรรมชาติ และเฝ้าดู เมื่อเกิดสงสัยจงเฝ้าดูมันเกิดขึ้นและดับไป มันก็ง่ายๆ อย่ายึดมั่นถือมั่นกับสิ่งใดทั้งสิ้น
      
         เหมือนกับว่าท่านกำลังเดินไปตามถนน บางขณะท่านจะพบสิ่งกีดขวางทางอยู่ เมื่อท่านเกิดกิเลส เครื่องเศร้าหมอง จงรู้ทันมันและเอาชนะมันโดยปล่อยให้มันผ่านไปเสีย อย่าไปคำนึงถึงสิ่งกีดขวางที่ท่านได้ผ่านมาแล้ว อย่าวิตกกังวลกับสิ่งที่ยังไม่ได้พบ จงอยู่กับปัจจุบัน อย่าสนใจกับระยะทางของถนน หรือกับจุดหมายปลายทาง ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าท่านผ่านอะไรไป อย่าไปยึดมั่นไว้ ในที่สุดจิตจะบรรลุถึงความสมดุลตามธรรมชาติของจิต และเมื่อนั้นการปฏิบัติก็จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นและดับไปในตัวของมันเอง
      
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9520000090521

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น